สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกแล้ว เมื่อนักวิจัยไทยสามารถคว้า 3 รางวัล ใน International Warsaw Invention Show (IWIS) 2014 ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งจัดโดยสมาคมนักประดิษฐ์ประเทศโปแลนด์

Binder1_Page_061-678x1024

งานนี้หน่วยงาน สมาคมนักประดิษฐ์ และสถานศึกษาจากหลาย ๆ ประเทศ ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ 20 สาขา และสำหรับผลงานของนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลก็คือ นวัตกรรม “เรือสำรวจคุณภาพน้ำแบบ ณ ขณะเวลาจริง ผ่านระบบโทรมาตร” ของ “ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่ได้รับทั้งรางวัลเหรียญทอง, รางวัล special prize ประเภท the best foreign invention จาก association of polish inventors and rationalizers และ รางวัล special prize จาก Korea Invention Academy (KIA)

ดร.ปรัชญา เล่าว่า เรือสำรวจนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อประยุกต์ใช้ตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบ ณ ขณะเวลาจริง โดยเรือสำรวจได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ขนาดของเรือมีความยาวอยู่ที่ 3.85 เมตร ประกอบไปด้วย 6 ส่วนหลัก ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ระบบขับเคลื่อนเรือโดย ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสร้างแรงผลักของใบพัดในที่ต้องการทิศทาง 2) ระบบควบคุมเครื่องหย่อนหัว วัดน้ำที่สามารถหย่อนหัว วัดคุณภาพน้ำลงไปได้ 3) ระบบการส่งข้อมูลทางไกลโดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบ 3G 4) ระบบการนำทางโดยใช้เซ็นเซอร์ GPS และ IMU 5) ระบบควบคุมโดยใช้รีโมตวิทยุหรือระบบควบคุมการเคลื่อนที่ตามจุดพิกัด GPS ที่กำหนดโดยผู้บังคับแบบอัตโนมัติ และ 6) แหล่งพลังงานไฟฟ้า ที่ได้จากแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ทำให้เรือนี้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ชั่วโมง

เรือสำรวจลำนี้สามารถเก็บและส่งค่าคุณภาพน้ำที่วัดได้ ทั้งค่า อุณหภูมิ พีเอช ความเค็ม และออกซิเจนละลาย จากตำแหน่งที่เก็บตัวอย่างไปยังผู้ใช้ได้ทันที โดยผ่านระบบการส่งข้อมูลทางไกล หัววัดน้ำสามารถวัดคุณภาพน้ำที่ความลึกต่าง ๆ กันได้ลึกมากสุด 5 เมตร ตามคำสั่งของผู้ใช้งาน การสื่อสารแบบสองทางระหว่างระบบควบคุมเครื่องหย่อนวัดน้ำและคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานจะถูกถ่ายโอนข้อมูลผ่านเว็บเซิร์ฟเวอร์โดยใช้เราเตอร์อินเทอร์เน็ตแบบ 3G ที่ติดตั้งอยู่ในเรือและบนฝั่ง โดยค่าความลึกของหัววัดคุณภาพน้ำและข้อมูลของคุณภาพน้ำจะสามารถถูกส่งจากผู้ใช้ไปยังระบบควบคุมเครื่องหย่อนหัววัดน้ำ และจะถูกส่งจากเครื่องหย่อนหัววัดน้ำไปยังผู้ใช้งานตามลำดับ

ดังนั้น องค์กรจัดการน้ำสามารถตรวจสอบการไหลของน้ำที่ปนเปื้อนและระบุแหล่งที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาจริง และลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติการที่จะต้องสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อน

โดยเรือสำรวจคุณภาพน้ำสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริง ใช้ในการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มผลผลิตและความถี่ในเวลาจริงสำหรับการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หรือเส้นฝั่ง การจัดการน้ำ องค์กรที่เกี่ยวข้องได้แจ้งคำเตือนผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเมื่อคุณภาพน้ำต่ำกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการบริการน้ำสาธารณะโดยปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยา และการประยุกต์ใช้การสำรวจอื่น ๆ หรือใช้เรือในการสุ่มตัวอย่างน้ำสารเคมีหรือชีววิทยาอื่น ๆ และการแสดงความลึกของแหล่งน้ำ

 

คอลัมน์ Next Gen: นักวิจัยไทยกวาด 3 รางวัล’เรือสำรวจคุณภาพน้ำ’